Spanish Civil War (1936-1939)

สงครามกลางเมืองสเปน (พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๒)

 สงครามกลางเมืองสเปนเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ถึงวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมที่สั่งสมมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สงครามครั้งนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศยุโรปที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน อันได้แก่ รัสเซียฝ่ายหนึ่ง และเยอรมนีกับอิตาลี อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามกลางเมืองสเปนจึงเป็นบททดสอบพลังอำนาจครั้งสำคัญของประเทศมหาอำนาจยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ทั้งยังได้นำพลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* หัวหน้าคณะผู้ก่อการซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามขึ้นสู่อำนาจในสเปน

 สเปนมีพื้นฐานเป็นสังคมที่แบ่งแยกระหว่างความรวยกับความจนโดยมีที่ดินเป็นปัจจัยหลัก ที่ดินในประเทศกว่าครึ่งเป็นของชนชั้นเจ้านายและสถาบันคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าของกิจการสำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจของประเทศในหลาย ๆ ด้าน เช่น ธนาคารและรถรางในกรุงมาดริด ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้น เป็นชาวนาที่แทบจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและอีกส่วนหนึ่งเป็นชนชั้นแรงงานที่ได้ค่าจ้างตํ่าเกินกว่าจะมีชีวิตได้เป็นปรกติสุข คนเหล่านี้จึงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่ประสบผลเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อยุโรปและต่อโลกในวงกว้าง สเปนก็เผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย รัฐบาลของพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๔๑)* ทรงพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงยอมรับการชี้แนะของพลเอก ปรีโม เด รีเบรา (Primo de Riverara) ให้มีการปกครองประเทศตามแบบเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ประชาชนจึงเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเป็นกลุ่มประท้วงสังคมซึ่งประกอบด้วย ผู้ยากไร้ทั้งในชนบทและในเมืองพวกต่อต้านนักบวชและชนชั้นสูง พวกนิยมลัทธิอนาธิบไตย พวกแบ่งแยกดินแดนในแคว้นบาสก์ (Basque) แคว้นกาตาโลเนีย (Catalonia) และแคว้นกาลิเซีย (Galicia) ตลอดจนพวกนายทหารและอดีตทหารประจำการในแคว้นโมร็อกโก (Morocco) ซึ่งเป็นรัฐในอารักขา ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างรุนแรงได้นำไปสู่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์และมีการสถาปนาสาธารณรัฐสเปนที่ ๒ ขึ้น

 สาธารณรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้พยายามใช้เวลาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๖ นำพาประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤติและความวุ่นวายปั่นป่วนด้วยการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพยายามแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นทุกหัวระแหงแม้รัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๖ การแข่งขันทางการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีการรวมตัวกันของกลุ่มสาธารณรัฐนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ พวกแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มประท้วงสังคมอื่น ๆ เป็นแนวร่วมประชาชน (Popular Front)* ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาถึงขวาจัดรวมทั้งพวกนิยมฟาสซิสต์ด้วย การเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๓๖ ในสเปนจึงเกิดปรากฏการณ์ของความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างเห็นได้ชัดเจนเป็นครั้งแรก แม้ฝ่ายแนวร่วมประชาชนจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลโดยมีมานูเอล อาซาญา อี ดีอัซ (Manuel Azaña Y Diaz) ผู้นำกลุ่มสาธารณรัฐนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีและต่อมาเป็นประธานาธิบดี ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความวุ่นวายปั่นป่วนในประเทศได้ หนำซํ้ายังเกิดการสังหารทางการเมืองและการลอบวางเพลิงอาคารสถานที่ เช่น โบสถ์วิหารหลายแห่ง จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ทุกวันนี้เรา (ชาวสเปน) กำลังอยู่ในพิธีฌาปนกิจระบอบประชาธิปไตย”

 สงครามกลางเมืองสเปนเริ่มจากกลุ่มผู้นำทหารในโมร็อกโกที่ไม่พอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ล่าช้าและไม่ได้ผล ก่อกบฏขึ้นเพราะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคที่มีอุดมการณ์และแนวทางแตกต่างกันไม่อาจแก้วิกฤติความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ การกบฏเกิดขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยในชั้นแรกพวกเขายังไม่มีผู้นำที่ชัดเจนเพราะมีนายพลทหารบกเข้าร่วมหลายคนและทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันและเป็นหัวหน้าผู้ก่อการที่กระจายกำลังอยูในหลายพื้นที่ของโมร็อกโก มีกองกำลังทหารมัวร์อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นส่วนใหญ่ พวกเขามีแผนบุกสเปนจากทางทิศใต้มุ่งสู่กรุงมาดริดทางตอนกลางของประเทศ อย่างไรก็ดีในเช้าตรู่วันเดียวกัน พลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโกซึ่งถูกรัฐบาลส่งตัวไปอยู่ที่หมู่เกาะคะแนรี (Canary Islands) เพราะไม่พอใจการปฏิบัติงานของเขาในฐานะเสนาธิการ ได้ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียงจากหมู่เกาะคะแนรีแสดงความชื่นชมการก่อจลาจลของพวกทหาร และเรียกร้องให้ทหารทุกหน่วยทั่วทั้งประเทศลุกฮือขึ้นเพื่อช่วยให้สเปนรอดพ้นจาก “การปฏิวัติแดง” (Red Revolution) ของคนในรัฐบาล กองทัพในแอฟริกาตอนเหนือจะไม่รีรอที่จะใช้กองกำลังทหารมัวร์ทำสงครามครูเสดกับพวกนิยมลัทธิมากซ์ หลังจากนั้นนายพลฟรังโกได้รีบเดินทางสู่โมร็อกโกและภายใน ๒๔ ชั่วโมงก็สามารถควบคุมรัฐในอารักขานี้ไว้ได้รวมทั้งกองทัพทั้งหมด

 นายพลฟรังโกซึ่งได้กลายเป็นหัวหน้าผู้ก่อการได้นำกองทัพข้ามช่องแคบยิบรอสตาร์ (Gibraltar)* สู่ภาคใต้ของสเปน และภายในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาได้ประกาศตนเป็น “ผู้นำแห่งรัฐสเปน” (El Caudillo - Chief of Spanish state) ทั้งนี้ เพราะเขาสามารถยึดครองพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศได้เกือบทั้งหมดภายในระยะเวลาอันสั้นด้วยยุทธวิธีการรบแบบสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกฝ่ายทั้งยังสามารถทำให้ฝ่ายชาตินิยมแนวอนุรักษนิยมเชื่อมั่นในตัวเขา รวมทั้งทำให้ต่างประเทศให้ความสนใจการสู้รบภายในสเปนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเยอรมนีและอิตาลีเริ่มให้ความช่วยเหลือกองทัพชาตินิยมของนายพลฟรังโกในการลำเลียงพลข้ามช่องแคบในปฏิบัติการขนย้ายกำลังพลทั้งหมดโดยทางอากาศ สงครามกลางเมืองสเปนจึงเป็นการทำสงครามสมัยใหม่ที่เครื่องบินมีบทบาทสำคัญในการขนย้ายกำลังพลไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์และมีประสิทธิผลนอกจากเครื่องบินลำเลียงแล้ว ในเวลาต่อมาเยอรมนีและอิตาลียังเพิ่มความช่วยเหลือด้านเครื่องบินรบ โดยเฉพาะเครื่องบินทิ้งระเบิด นักบิน ช่างเทคนิค รวมทั้งกองกำลังอาสาสมัครจากประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมากกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ทำให้ภายในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๖ กองทัพของนายพลฟรังโกสามารถยึดพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ รวมทั้งดินแดนตลอดแนวชายแดนด้านที่ติดต่อกับโปรตุเกสซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงและยุทธปัจจัยที่สำคัญของฝ่ายชาตินิยม

 การแทรกแซงของต่างชาติในสงครามกลางเมืองสเปนไม่ได้มีเฉพาะเยอรมนีและอิตาลี แต่รัสเซียก็เข้ามามีบทบาทด้วยการสนับสนุนรัฐบาลในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๓๖ หลังจากที่พยายามโน้มน้าวอังกฤษและฝรั่งเศสให้เข้าร่วมด้วยแต่ไม่ประสบผล เพราะทั้ง ๒ ประเทศยังคงยืนยันที่จะเป็นกลางและมีนโยบายไม่เข้าแทรกแซงในสถานการณ์ดังกล่าว ความช่วยเหลือรัฐบาลแนวร่วมประชาชนของรัสเซียมาในรูปรถถัง เครื่องบิน นักบิน และที่ปรึกษาทางเทคนิค ทำให้รัฐบาลใช้เทคโนโลยีของสงครามสมัยใหม่ต่อต้านการรบเชิงรุกและการทำลายล้างของฝ่ายชาตินิยมได้ระยะหนึ่งประกอบกับรัฐบาลได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ทำให้การปกป้องฐานที่สำคัญในภาคเหนือภาคกลาง และภาคตะวันออกของประเทศ ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้รับกำลังใจอย่างไม่เป็นทางการจากประเทศต่าง ๆ ที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* เกิดเป็นปรากฏการณ์การจัดตั้งกองพลน้อยนานาชาติ (International Brigade) ซึ่งประกอบด้วยคนทุกภาคส่วนรวมทั้งศิลปิน นักประพันธ์ นักวิชาการ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพที่ตกค้างอยู่ในดินแดนต่าง ๆ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* คนเหล่านี้มีทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่เป็นทั้งชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ชาวแคนาดาและอื่น ๆ และเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือนที่มีอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์กองพลน้อยนานาชาตินี้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ระหว่างสงคราม

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๓๘ สงครามกลางเมืองสเปนดำเนินไปอย่างดุเดือดโดยทั้ง ๒ ฝ่ายผลัดกันรุกและผลัดกันรับ มีการทิ้งระเบิด การทำลายล้างและสังหารชีวิตผู้คนทั้งทหารและพลเรือนเป็นจำนวนมาก กองทัพนายพลฟรังโกแม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่ก็เป็นกองทัพของทหารอาชีพที่เชี่ยวชาญในการรบเต็มรูปแบบ ทำให้การรุกเข้าไปควบคุมคนและพื้นที่กระทำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ขณะที่กองทัพของฝ่ายรัฐบาล แม้จะมีกำลังเหนือกว่า แต่ส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์และประสิทธิภาพในการรบ โดยเฉพาะเมื่อต้องพึ่งพาทหารเกณฑ์ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กด้วย การที่สงครามยืดเยื้อทำให้มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพลเรือน มีการอพยพเด็กจำนวนมากไปอยู่ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว ผู้หญิงนอกจากจะต้องเข้าร่วมทำการรบ ส่วนหนึ่งยังถูกส่งไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในไร่นาเพื่อช่วยด้านการผลิต และบางส่วนก็ทำงานอาสาสมัครด้านสวัสดิการและการปฐมพยาบาล สงครามกลางเมืองสเปนแม้จะเริ่มต้นจากการกระทำของกองทัพในการต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ได้ขยายวงกว้างออกไปครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมและทุกภูมิภาคของประเทศ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘ ฝ่ายนายพลฟรังโกสามารถครอบครองพื้นที่เพิ่มเติมในภาคเหนือและภาคตะวันออก ยังคงเหลือเพียงกรุงมาดริดและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งแคว้นบาเซโลนาและบาเลนเซียเท่านั้น

 สงครามกลางเมืองสเปนไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะภายในสเปนเท่านั้นแต่ยังขยายวงกว้างออกไปโดยรอบ เมื่อเยอรมนีและอิตาลีใช้นโยบายสกัดกั้นการเดินเรือสัญชาติที่อาจมีส่วนได้เสียในสงครามในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและในเขตเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยโดยผ่านโปรตุเกสโดยเฉพาะจากกลาง ค.ศ. ๑๙๓๘ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๓๙ ทำให้รัฐบาลสเปนเองก็เริ่มเห็นว่าการจะเอาชนะสงครามเป็นไปได้ยาก จึงพยายามใช้นโยบายการทูตมากขึ้นเพื่อกดดันให้ อังกฤษและฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงอย่างน้อยเพื่อช่วยให้การเจรจายุติสงครามกับฝ่ายนายพลฟรังโกบรรลุผล อย่างไรก็ดีในที่ประชุมองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ แม้หลายประเทศจะประกาศยุตินโยบายการไม่เข้าแทรกแซง แต่อังกฤษและฝรั่งเศสก็ยังคงสงวนท่าที ซํ้าร้ายรัสเซียยังถอนความช่วยเหลือในด้านเทคนิค พร้อม ๆ กับถอนกำลังพลที่เข้าร่วมอยู่ในกองพลน้อยนานาชาติ ต่อมามีการประชุมที่มิวนิกในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๕ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์ (Sude tenland Crisis) ในที่ประชุมมีการพูดถึงการหาทางยุติสงครามกลางเมืองสเปนอยู่บ้าง แตกไม่มีผลเป็นรูปธรรมเพราะอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ให้ความสนใจปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลสเปนเสียหน้าที่ไม่อาจดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในสงครามครั้งนี้

 ในฤดูหนาวปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๓๙ เป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของสงครามกลางเมือง เพราะนอกจากอากาศจะหนาวเหน็บเป็นที่สุดแล้ว การรบทั้งทางบกและทางอากาศยังเป็นไปอย่างดุเดือดที่สุด สงครามกลางเมืองสเปนก็ยังคงเป็นสนามทดลองอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกยุทธวิธีใหม่ ๆ


ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้เต็มรูปแบบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากนั้น การรุกเข้าควบคุมคนและพื้นที่ของนายพลฟรังโกได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและมากมายต่ออาคารสถานที่และชีวิตผู้คนพลเมืองในทุกภูมิภาคของประเทศประชาชนและทหารจำนวนกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คนต้องเสียชีวิตและผู้คนจำนวนหลายแสนคนต้องอพยพหนีตายออกนอกประเทศ กองทัพของนายพลฟรังโกสามารถเข้ายึดครองดินแดนส่วนที่เหลือได้เกือบทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ และเมื่อกองทัพของเขารุกเข้าประชิดกรุงมาดริดในเดือนมีนาคม การรบครั้งสุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นและรัฐบาลก็ไม่ได้ประกาศยอมแพ้ แต่คณะนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่รับผิดชอบการปกป้องเมืองหลวงและฐานที่ตั้งของรัฐบาลเป็นฝ่ายยอมรับความพ่ายแพ้ต่อนายพลฟรังโก สงครามกลางเมืองอันยาวนานจึงยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙

 พลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก ผู้นำกองทัพชาตินิยมประสบชัยชนะอย่างงดงามต่อฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นชัยชนะที่มาพร้อมกับความย่อยยับและความสูญเสียอย่างมหาศาลของบ้านเมือง ชัยชนะที่ได้มาจึงเป็นชัยชนะที่เจ็บปวด นายพลฟรังโกและคณะของเขาต้องพยายามอย่างที่สุดในการนำประเทศกลับคืนสู่ภาวะปรกติ และในวันที่ ๔ สิงหาคม เขาก็ประกาศตนเป็นประมุขของสเปน เป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างชาติขึ้นมาใหม่.



คำตั้ง
Spanish Civil War
คำเทียบ
สงครามกลางเมืองสเปน
คำสำคัญ
- กลุ่มสาธารณรัฐนิยม
- การปฏิวัติแดง
- การประชุมที่มิวนิก
- ซูเดเทนลันด์
- แนวร่วมประชาชน
- ปรีโม เด รีเบรา, พลเอก
- ฟรังโก, พลเอก ฟรันซิสโก
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- รีเบรา, ปรีโม เด
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- วิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สันนิบาตชาติ
- อาซาญา, มานูเอล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1936-1939
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-